วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ศิลปะและสัจธรรมในรส “ชา” โดยพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล


ปาจารยสาร เมษายน ๒๕๕๒

ศิลปะและสัจธรรมในรส “ชา
พระไพศาล วิสาโล


ตั้งแต่ เล็กข้าพเจ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจศิลปะเท่าไร ประสบการณ์ทางศิลปะส่วนใหญ่ก็จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนในชั่วโมงศิลปะและ ดนตรี พยายามวาดให้เหมือนอย่างที่ครูสอนและร้องเพลงอย่างที่ครูแนะนำ เวลาอยู่นอกห้องเรียนถ้าจะได้ฟังเพลงส่วนใหญ่ก็จากวิทยุหรือเครื่องเล่นแผ่น เสียงที่พี่ชายเปิดทุกเย็น หากจะมีอะไรที่ใกล้เคียงศิลปะอยู่บ้างในความรู้สึกของตัวเอง นั่นก็คือฟุตบอล เวลาดูหรือเล่นฟุตบอล จะได้เห็นความงดงามจากลีลาการเล่น ฟุตบอลเป็นความสวยงามที่ดึงดูดใจตนเองมากทั้งในฐานะผู้ดูและผู้เล่น

อย่างไร ก็ตามความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นเมื่อหันมาสนใจความงามในวรรณกรรมและ ธรรมชาติ ผู้ที่เป็นสะพานนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือพจนา จันทรสันติ ตอนนั้นเขาเริ่มแปล “เต๋า”เป็นภาษาไทย แม้จะไม่ค่อยเข้าใจงานของเหลาจื๊อมากนัก แต่เมื่อได้อ่านงานแปลของพจนาก็เริ่มสัมผัสถึงความงามในถ้อยคำและธรรมชาติ ยิ่งได้มีเวลาช่วงหนึ่งออกค่ายในบริเวณอุทยานแห่งชาติกับพจนา ก็ได้เรียนรู้ที่จะใช้ใจในการรับรู้ธรรมชาติและสรรพสิ่ง นอกเหนือจากการใช้ความคิดและเหตุผล ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้จิตใจละเอียดอ่อนมากขึ้น

ช่วงที่หันมาสนใจศิลปะอย่างจริงจังก็เมื่อได้ไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในกรุงปารีส ทั้งเมืองเต็มไปด้วยศิลปะ สามารถสัมผัสได้ตลอดเวลาที่อยู่บนท้องถนน เพราะปารีสมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามมากทั้งเมือง ยิ่งได้มีโอกาสไปชมงานศิลปะตามพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ โดยเฉพาะลูฟว์ ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ และใกล้ชิดกับศิลปะมากขึ้น ช่วงเวลา ๓-๔ เดือนที่นั่นเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ทางด้านศิลปะ แม้จะไม่ลึกซึ้งก็ตาม

เมื่อ ได้มาบวชอยู่ในวัดป่า การอยู่ท่ามกลางป่าที่เงียบสงบ ก็ทำให้จิตใจละเอียดอ่อนมากขึ้น เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าความสุขอันประณีต ซึ่งสามารถเกิดจากใจที่สงบ จากธรรมชาติที่วิเวก หรือจากงานศิลปะที่ลุ่มลึกก็ได้ แต่จะว่าไปแล้วหากจิตละเอียดเพียงพอ ก็สามารถเห็นความงดงามได้จากสิ่งสามัญทั้งหลายที่อยู่รอบตัว งานศิลปะชั้นนำเป็นอันมากก็เกิดจากวาบแห่งความงามจากสิ่งธรรมดาสามัญนั่นเอง

ศิลปะและสุนทรียภาพสามารถมีอิทธิพลต่อจิตใจของคนเราได้หลายระดับ ระดับแรกคือความติดใคร่ใฝ่หา เป็นความรู้สึกอยากชิดใกล้ อยากได้หรืออยากครอบครอง (พุทธศาสนาเรียกว่าราคะ) ระดับต่อมาคือความรู้สึกดื่มด่ำ ปีติ สูงขึ้นมาอีกคือความสงบ และสูงที่สุดคือความรู้สึกแบบ transcendence หรือภาวะที่เหนือสามัญ เป็นสภาวะที่จิตได้สัมผัสกับความจริงขั้นสูงสุดหรืปรมัตถ์ เช่น ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและจักรวาล สภาวะที่อัตตาตัวตนได้เลือนหาย ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างฉันกับโลกอีกต่อไป อยู่เหนือบัญญัติหรือความจริงแบบทวินิยม (dualism) เป็นสภาวะที่จิตเปี่ยมด้วยเมตตากรุณาอย่างไม่มีประมาณ

มองในแง่นี้ศิลปะมิใช่ตรงข้ามกับศาสนา แต่สามารถเป็นสื่อนำผู้คนเข้าถึงมิติที่ลึกซึ้งสูงสุดในทางศาสนธรรมได้ เซนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เชื่อมศิลปะเข้ากับการขัดเกลาทางจิตวิญญาณได้ อาทิ ศิลปะการชงชา ซึ่งดูเผิน ๆ เป็นเรื่องของพิธีกรรมที่ซับซ้อน แต่ที่จริงเป็นกระบวนการกล่อมเกลาจิต ตั้งแต่ระดับพื้น ๆ คือ การได้สัมผัสกับความงามและรสชาติทางผัสสะ ไปจนถึงการน้อมใจให้สงบ และเข้าถึงความจริงที่เหนือสมมติ

เริ่มแรกก็คือ การดื่มชามัทชะมิใช่เป็นแค่การเสพรสชาเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสที่จะได้ชื่นชมความงามของถ้วยชา ทั้งด้วยสายตาและสัมผัส รูปลักษณ์ เส้นสี และพื้นผิวของถ้วยชานั้นเป็นผลงานศิลปะที่จรรโลงใจ และให้ความรู้สึกละเมียดละไมไม่แพ้รสชา

จะว่าไปแล้วความสุขจากชานั้นเกิดขึ้นก่อนที่จะได้ดื่มชาเสียอีก เพราะกระบวนการก่อนหน้านั้นสามารถให้ประสบการณ์ที่ดีแก่จิตใจได้

พิธีชงชาที่สมบูรณ์แบบจะมีขึ้นได้ก็เฉพาะในห้องหรือในเรือนหลังเล็ก ๆ ที่เรียบง่ายไร้สิ่งประดับประดา ซึ่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การชงชาจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า เริ่มตั้งแต่ทำความสะอาดภาชนะได้แก่ ถ้วยชา ช้อนตักผงชา ไม้กวนน้ำชา ล้างด้วยน้ำแล้วเช็ดด้วยผ้า จากนั้นจึงใส่ผงชา เติมน้ำร้อน แล้วกวนน้ำชาจนแตกเป็นฟอง แล้วจึงนำมามอบให้แก่อาคันตุกะ ขั้นตอนทั้งหมดนี้จะได้ชามาเพียงถ้วยเดียวเท่านั้น หากผู้ร่วมพิธีมี ๑๐ คน ก็ต้องทำ ๑๐ ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๓ นาที

เวลาที่เนิ่นนาน บรรยากาศที่สงบไร้เสียงพูดคุย และความสลัวภายในห้อง จะค่อย ๆ น้อมใจผู้คนให้สงบ ผัสสะจะละเอียดขึ้น และความสุขจะบังเกิดทีละน้อย ๆ จากการได้ยินเสียงน้ำเดือดในกาและเสียงนกร้อง และจากการชื่นชมภาชนะที่ใช้ในการชงชา ซึ่งเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เมื่อน้ำชาถูกนำมาต้อนรับ ใจที่สงบย่อมเข้าถึงรสชาติอันสุขุมลุ่มลึกได้ไม่ยาก

ศิลปะที่สุดยอดนั้นคือความงดงามที่กล่อมเกลาจิตให้สงบ นิ่ง และเย็น เข้าถึงภาวะที่โปร่งเบา และสัมผัสกับมิติอันลึกซึ้งภายใน แต่คุณค่าของศิลปะมิได้มีเพียงเท่านั้น หากยังสามารถนำพาให้ผู้คนซาบซึ้งถึงสัจธรรมของชีวิตด้วย

ในวัฒนธรรมการชงชาของญี่ปุ่น ถ้วยชาที่ถือว่างดงามและมีคุณค่าอย่างยิ่ง คือถ้วยชาที่มีผิวไม่เรียบ รูปทรงไม่สม่ำเสมอ และเปิดเนื้อดินเผาโดยไร้เครื่องเคลือบ ราวกับเป็นงานที่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่งานเหล่านี้เป็นฝีมือของช่างชั้นครูที่เข้าถึงสุดยอดของศิลปะ คุณคงคาดไม่ถึงว่าถ้วยรูปร่างแปลก ๆ เหล่านี้บางใบมีมูลค่าสูงกว่ารถเบ๊นซ์เสียอีก แต่คุณค่าที่สำคัญกว่านั้นคือการเผยแสดงสัจธรรมของชีวิตและโลกว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ นี้ก็เช่นเดียวกับเรือนชงชา ที่เปิดเนื้อไม้แสดงถึงความเก่าแก่ คร่ำคร่า ย้ำเตือนถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง

ชีวิตคือความไม่สมบูรณ์แบบ มิอาจเป็นดั่งใจได้เสมอไป ขึ้นแล้วก็ลง งดงามแล้วก็แก่หง่อม หาความจิรังยั่งยืนไม่ได้ นี้คือสัจธรรมความจริง ที่ถูกยกย่องให้เป็นศิลปะอันน่าชื่นชม ผ่านวัฒนธรรมการชงชา ใครที่ร่วมพิธีชงชาจะถูกย้ำเตือนความจริงข้อนี้ จนอาจได้คิดว่าชื่อเสียง เกียรติยศ และความมั่งคั่งนั้น เป็นมายา แต่ถึงแม้จะไม่ยอมรับ ก็ต้องถูกพิธีนี้บังคับให้จำต้องยอมรับจนได้ เพราะทางเข้าเรือนชงชานั้นต่ำมาก จนแม้แต่จักรพรรดิหรือโชกุนก็ต้องก้มหัวเข้าไปเช่นเดียวกับสามัญชน และเมื่อเข้าพิธีแล้ว ไม่ว่าใครก็มีสถานะเสมอกัน

ศิลปะนั้นมักจะมองว่าเป็นเรื่องของความงาม แต่ศิลปะการชงชาเป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าศิลปะก็สามารถเป็นสื่อแห่งความจริงได้ ความจริงนั้นมี ๒ ระดับ คือ ความจริงแบบสมมติ (สมมติสัจจะ) กับความจริงแบบปรมัตถ์ (ปรมัตถสัจจะ) นาย ก. เป็นรัฐมนตรี นาย ข. เป็นชาวนา นี่เป็นความจริงแบบสมมติ แต่เมื่อพูดถึงความจริงระดับปรมัตถ์แล้ว ทั้ง ๒ คนไม่ได้ต่างกันเลย เพราะต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกัน หน้าที่อย่างหนึ่งของศิลปะคือการเปิดใจให้คนเห็นความจริงขั้นปรมัตถ์ ไม่หลงติดอยู่กับสมมติ

ความจริงยังสามารถแบ่งออกเป็น ความจริงแบบเฉพาะ และความจริงที่เป็นสากล งานศิลปะหลายชิ้นมีชื่อเสียง เป็นที่ยกย่องเพราะเปิดเผยสภาวะทางจิตของคนร่วมสมัย เช่น ความทุกข์ ความเหงา ความโดดเดี่ยว ได้อย่างมีพลัง ชนิดที่สัมผัสได้ด้วยใจ ทำให้เกิดอารมณ์สะเทือนไหว
หรือรู้สึกเหงาและหนาวเหน็บไปถึงหัวใจ

แต่มีงานศิลปะอีกหลายชิ้นที่ถ่ายทอดความจริงที่เป็นสากล เป็นอกาลิโก เช่น ความไม่เที่ยง ความพลัดพราก ที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบ หรือพลังแห่งความกรุณาปราณีที่โอบอุ้มมนุษยชาติเอาไว้ บ้างก็เปิดใจให้เราเห็นอานุภาพแห่งธรรมะหรือสิ่งสูงสุด ที่ทำให้เรามีความหวังแม้ในยามมืดมิดที่สุดของชีวิต

งานศิลปะชั้นครู เมื่อเปิดเผยความจริงให้เราสัมผัส ไม่ว่าความจริงเฉพาะหรือความจริงอันสากล มักก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในอันที่จะทำสิ่งดีงาม งานบางชิ้นถ่ายทอดโศกนาฏกรรมของเพื่อนมนุษย์ได้อย่างสะเทือนใจ จนเราไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ เพราะรู้สึกถึงแรงผลักจากมโนธรรมภายในให้อยากทำบางอย่างเพื่อช่วยเหลือเขา

ดังนั้นนอกจากความงามและความจริงแล้ว ศิลปะยังสามารถเป็นสื่อกระตุ้นให้เกิดความดีขึ้นได้ ความงาม ความจริง และความดีจึงมิใช่สิ่งที่แยกจากกัน กล่าวได้ว่าหน้าที่สูงสุดของศิลปะก็คือ ประสานความงาม ความดี และความจริงให้เป็นหนึ่งเดียวกันนั่นเอง

ชีวิตนั้นมีหลายมิติ เราแต่ละคนมีสัมพันธภาพที่หลากหลาย ในฐานะปัจเจกบุคคล เราต้องสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว อาทิ ผู้คน สังคม และธรรมชาติ ขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ละเลยชีวิตด้านในจนแปลกแยกกับตัวเอง จะทำเช่นนั้นได้ เราต้องสัมพันธ์กับสิ่งสูงสุดด้วย ไม่ว่าจะเป็นปรมัตถสัจจะ นิพพาน หรือพระเจ้าก็ตาม

หากสัมพันธภาพกับผู้คน สังคม และธรรมชาติ เป็นสัมพันธภาพแนวนอน สัมพันธภาพแนวตั้ง เบื้องล่างคือสัมพันธภาพกับชีวิตด้านใน เบื้องบนคือสัมพันธภาพกับสิ่งสูงสุด

ในฐานะที่เป็นสะพานพาให้เข้าถึงความงาม ความจริง และความดี ศิลปะคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรามีสัมพันธภาพกับสรรพสิ่งอย่างรอบด้าน ทำให้เราเห็นคุณค่าของธรรมชาติ เห็นมนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน หยั่งลึกถึงจิตวิญญาณของตน และเข้าถึงสิ่งสูงสุดได้

ศาสนามีความหมายกับชีวิตอย่างไร ศิลปะก็มีความหมายอย่างนั้นกับเรา ชีวิตที่ดีงามกับศิลปะจึงไม่อาจแยกจากกันได้ ศิลปะช่วยให้ความเป็นมนุษย์ของเราสมบูรณ์และงดงาม

ไม่มีความคิดเห็น: