วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552

"ติดดี" โดยพระอาจารย์ไพศาล

ติดดี - พระอาจารย์ไพศาล: คัดลอกบทความจาก www.palungjit.com




--------------------------------------------
สำหรับผมแล้ว บทพระธรรมเทศนานี้ ดีมากจริงๆ เลยคัดลอกมาฝากครับ
ผิดพลาดล่วงเกิน ขออภัยขอขมาครับผม ..... จขกท
--------------------------------------------

เมื่อมีภาพพจน์ว่าเป็นคนดีแล้ว
เราก็มีภาระที่จะต้องทำตัวให้เป็นคนน่ารัก ยิ้มแย้มแจ่มใส
ยิ่งเป็นที่นับถือรักใคร่ของคนทั่วไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพลิดเพลิน
จนทำตัวให้เกินเลยจากที่ตัวเองเป็นมากเท่านั้น...


------------------------------------------------------

ใครๆ ก็อยากเป็นคนโอบอ้อมอารี มีจิตใจมั่นคงหนักแน่นสุภาพอ่อนน้อม
เสียสละเพื่อผู้อื่น ไม่ต้องอธิบายก็รู้ว่า ลักษณะเหล่านี้เป็นคุณสมบัติของคนดี
เป็นคุณธรรมที่ควรมีประจำจิต แต่คุณธรรมและความดีนั้น
ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน ก็อาจโดนมันขบกัดเข้าได้ง่ายๆ

ถ้ายังสงสัย ลองฟังนิทานสองเรื่องนี้ดู

อาจารย์ผู้หนึ่งเป็นที่เลื่องลือว่าสำเร็จธรรมขั้นสูงจิตใจไม่หวั่นไหวกับอะไรง่ายๆ
คราวหนึ่งเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา ลูกศิษย์ทั่วทั้งสำนักแตกตื่น
แต่ท่านกลับสงบนิ่ง ยังความประทับใจแก่ลูกศิษย์เป็นอันมาก

หลายวันต่อมา เมื่อสานุศิษย์ถามอาจารย์ว่า จิตใจที่มั่นคงหนักแน่นหมายถึงอะไร
อาจารย์ก็อ้างท่านเป็นตัวอย่างด้วยความภาคภูมิใจว่า
"ท่านเห็นหรือไม่ว่า ขณะที่ทุกคนวิ่งแตกตื่นยามเกิดแผ่นดินไหว
เรากลับนั่งเฉยและจิบน้ำชาอย่างสงบ
พวกท่านเห็นมือของเราสั่นขณะถือแก้วหรือไม่ ?"

"ไม่ครับ" ศิษย์ผู้หนึ่งตอบ และกล่าวต่อไปว่า
"แต่อาจารย์ไม่ได้ดื่มน้ำชานะครับ อาจารย์ดื่มซีอิ๊วต่างหาก"

เรื่องที่สองก็เกี่ยวกับอาจารย์อีกเหมือนกัน แต่เป็นคนละสำนัก
คราวหนึ่ง ท่านได้ออกธุดงค์กับศิษย์ เมื่อถึงกลางป่าก็เจอช้างตกมันวิ่งเข้าหา
ทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์วิ่งหนีคนละทิศละทาง

หลายปีต่อมา ขณะที่อาจารย์ป่วยหนักนอนแบบอยู่
ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปได้นานอีกเท่าใด ลูกศิษย์ตัดสินใจรวบรวมความกล้า
ถามปัญหาที่ติดค้างในใจมานานว่า "อาจารย์ตกใจด้วยหรือเมื่อเจอช้างป่า ?"

"ไม่หรอก" อาจารย์ตอบ
"ถ้าเช่นนั้นทำไมอาจารย์ถึงวิ่งหนีพร้อมกับเราล่ะครับ ?"
"เราคิดว่า การหนีช้างป่านั้นดีกว่าการอยู่อย่างลำพองใจเป็นไหนๆ " อาจารย์ตอบ

การไม่หวั่นไหวต่อภยันตรายนั้นเป็นเรื่องดี

แต่ถ้าเลือกได้ระหว่างอาจารย์สองคนนี้ ท่านอยากเป็นคนไหน ?
ใครที่เข้าถึงคุณธรรมมากว่ากัน ?

คุณธรรมและความตั้งมั่นแห่งจิตนั้น ย่อมนำความสุขมาให้แต่ขณะเดียวกัน
ความลำพองใจว่าตนนั้นเลิศประเสริฐกว่าผู้อื่น
ก็มักหาโอกาสเล็ดลอดตามมาด้วย ถ้าไม่ระวังมันก็เข้าครองใจได้โดยง่าย


---------------------------

ความคิดความสามารถในทางจิตใจนั้น
มักเป็นหลุมพรางให้เราหลงติดกับดักของกิเลสอีกชนิดหนึ่ง
ที่ละเอียดและแนบเนียนยิ่งกว่าความโลภและความโกรธ
นั่นคือความถือตัวหลงตน ความสำคัญตนว่าเป็นคนดี มีคุณธรรม

เมื่อใดที่เราสำคัญตนว่าเราเป็นคนดี คนอื่นก็ดูด้อยกว่าเราไปหมด
(ยกเว้นคนที่ทำตัวได้ดีกว่าเรา) ถ้าไม่เหม็นเบื่อคนอื่น
ก็มักจะมีอาการสงสาร อยากจะสอนอยากชี้แนะอยู่ร่ำไป

ขณะเดียวกันจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ก็มักจะหาโอกาสแสดงตน
ให้ผู้อื่นเห็นความดีความสามารถของเราอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย


ครั้นผู้คนยอมรับนับถือความดีของเรา เราก็มีภาพพจน์ที่จะต้องรักษา
แต่ขึ้นชื่อว่าภาพพจน์แล้ว ก็ล้วนเป็นภาระที่ต้องแบกต้องหามทั้งนั้น
เราทนไม่ได้หากคนอื่นจะเห็นความอ่อนแอหรือความเห็นแก่ตัวของเรา

ดังนั้นจึงต้องปกป้องตนเองอยู่เสมอ บ่อยครั้งต้องทุ่มเถียงเป็นวรรคเป็นเวรว่า
ฉันไม่ได้โกรธ ไม่ได้พูดโกหก ไม่ได้เห็นแก่ตัว ฯลฯ
ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดามิใช่หรือหากคนเราจะโกรธ จะพลั้งเผลอ
หรือมีความเห็นแก่ตัวอยู่บ้างตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่

เมื่อมีภาพพจน์ว่าเป็นคนดีแล้ว เราก็มีภาระที่จะต้องทำตัวให้เป็นคนน่ารัก
ยิ้มแย้มแจ่มใส ยิ่งเป็นที่นับถือรักใคร่ของคนทั่วไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพลิดเพลิน
จนทำตัวให้เกินเลยจากที่ตัวเองเป็นมากเท่านั้น

นานเข้าก็หลงเชื่อว่าตนเป็นอย่างที่คนอื่นนึกว่าเป็นจริงๆ
เราจึงมิได้เป็น "พระเอก" หรือ "นางเอก" ในสายตาของคนรอบข้างเท่านั้น
หากยังเป็นพระเอกนางเอกในความรู้สึกของตนเองอีกด้วย

แต่พระเอกนางเอกนั้นมีอยู่แต่ในหนัง ในชีวิตจริงทุกคน
ก็มีความเข้มแข็ง ความอ่อนแอ ความดี ความไม่ดี คละเคล้ากันไป

ถ้าหลงตนว่าเป็นพระเอกนางเอกเสียแล้ว เราไม่เพียงแต่จะหลอกตนเองเท่านั้น
หากยังหลอกผู้อื่น ตอนแรกก็ปกป้องตนเองด้วยการปกปิดจุดอ่อนจุดเสีย
แต่ตอนหลังก็ถึงกับบิดพลิ้วความจริง จนกลายเป็นคนฉ้อฉลไปโดยไม่รู้ตัว


คุณธรรมความดีนั้น หากเราไม่เท่าทัน เกิดไปหลงติดเข้า
ก็อาจพาชีวิตหลงทิศหลงทาง จนถึงขั้นทำสิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าการพูดปด
เพื่อรักษาภาพพจน์เสียอีก คนที่คิดว่าตนเป็นคนเมตตา รังเกียจการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ถ้าไม่ระวังตัว ก็อาจเป็นฆาตกรเสียเองเพราะจงเกลียดจงชังคนที่ไม่มีเมตตาเหมือนตน


ดังนักต่อต้านการทำแท้งในอเมริกา ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้เชิดชูชีวิต (pro - life)
แต่แล้วกลับลงมือสังหารหมอที่เปิดคลินิกทำแท้ง
เพราะทน "ความไร้ศีลธรรม" ของคนเช่นนั้นไม่ได้

มีนักปฏิบัติธรรมผู้หนึ่ง ซึ่งเคร่งครัดในการรักษาศีล แม้แต่ยุงเธอก็ไม่ตบ
จนเพื่อนๆ เรียกว่าแม่พระ แต่เมื่อพบว่าลูกสาวเกิดท้องทั้งๆ ที่ยังไม่ทันแต่งงาน
เธอก็นึกถึงการทำแท้งขึ้นมาทันที เพราะกลัวเสียชื่อเสียงของตนเองและวงศ์ตระกูล

ภาพพจน์จากความดีที่บำเพ็ญบ่อยครั้ง ก็ทำให้คนเราต้องทำสิ่งตรงข้ามกับความดีนั้น
เพื่อรักษาภาพพจน์ดังกล่าวต่อไป


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ มิใช่ให้เราปฏิเสธความดี
ไม่มีอะไรอีกแล้วที่ควรค่าแก่การบำเพ็ญเท่ากับคุณงามความดี

สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เราพึง ทำความดี ยิ่งกว่าที่จะทำตนเป็นคนดี

ความดีนั้นมีไว้สำหรับกระทำ มิใช่มีไว้เพื่อใช้เปรียบเทียบตนกับผู้อื่น
หรือเพื่อแบกหามล่ามโซ่ตนเอง


ความดีนั้นเอื้อให้เกิดสุข และความสุขก็ช่วยให้เรามั่นใจในการทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป
แต่เมื่อใดที่ยึดติดกับความดี เพราะหลงไหลในเกียรติยศชื่อเสียง
และความนับหน้าถือตาของผู้อื่นแล้ว
ความดีนั้นเองจะทิ่มแทงขบกัดและอาจถึงขั้นทำลายเราในที่สุด


คนเป็นอันมากทุกข์ใจเพราะดีได้ไม่ถึงขนาด
พ่อแม่กินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะลูกดีไม่ได้ดังใจ
ทั่วทุกหนแห่งมีแต่คนท้อแท้ผิดหวังเพราะไม่มีใครเห็นความดีของตน
ไม่ใช่ความน้อยเนื้อต่ำใจในความดีที่ถูกเมินเฉยดอกหรือ
ที่ผลักไสให้คนแล้วคนเล่าฆ่าตัวตาย

อันตรายของความดีนั้นอยู่ตรงที่ทำให้เราหลงตนลำพองใจได้ง่าย

ดังนั้นการมีสติเท่าทันในการทำความดีจึงเป็นสิ่งจำเป็น


แม้จะแน่ใจว่าทำดีด้วยใจบริสุทธิ์ แต่ก็ยังต้องระวังผลจากการทำความดีนั้นด้วย
ไม่ว่าจะเป็นผลโดยตรงหรือผลพลอยได้ โดยเฉพาะความสำเร็จ
ภาพพจน์ชื่อเสียง และการยอมรับนับถือจากคนรอบข้าง
หากเพลิดเพลินยินดีในสิ่งนั้นเมื่อไร เราก็ไม่ต่างจากปลาที่หลงฮุบเหยื่อ


บ่อย ครั้งไม่มีอะไรดีกว่าการกำราบหรือทรมานอัตตาตนเอง ยิ่งติดในภาพพจน์ตนเองมากเท่าไรก็ยิ่งสมควรทำอะไรเชยๆ เปิ่นๆ เสียบ้าง จะได้ดัดนิสัยชอบวางมาดวางฟอร์มให้เข็ดหลาบ

การทำตนเป็นคนขลาดกลัวช้างป่าให้ใครต่อใครเห็น
บางทีก็ฝึกฝนจิตใจได้ดีกว่าการทำตัวเป็นคนสงบไม่หวั่นไหวต่อแผ่นดินไหว


ถ้าหลงไหลในตนเองมากไปแล้ว ก็หัดหัวเราะเยาะตัวเองบ้าง
เวลาพลั้งเผลอปล่อยไก่ต่อหน้าธารกำนัล จะได้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหน้าเสียศักดิ์ศรี
แต่กลับถือเป็นเรื่องน่าหัวไปเสีย

ถ้าทำเช่นนี้ได้ ชีวิตจะไม่เครียด เพราะมีมุขมีเกร็ดให้แอบหัวเราะคนเดียวได้เรื่อยไป
และเมื่อถึงเวลาเป็นงานเป็นการ ใจเราจะเปิดกว้างมากขึ้นต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์


คนเราถ้าไม่คิดเป็นพระเอกนางเอกอยู่ร่ำไป ก็พร้อมจะยอมรับข้อผิดพลาด
และมองหาจุดอ่อนของตน แทนที่จะเอาแต่โทษคนอื่น
หรือคอยจับผิดเพื่อนร่วมงานอยู่ท่าเดียว

ในนิยายกำลังภายในหลายเรื่อง พรรคเทพมักเป็นตัวร้าย
ขณะที่พรรคมารกลับกลายเป็นผู้ทรงคุณธรรม

ในชีวิตจริง ก็มักเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะความเป็นเทพชวนให้เกิดความลำพอง
และฉ้อแลได้ง่ายด้วย ถือว่าถ้าเจตนาดีแล้ว จะใช้วิธีเลวร้ายอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น
ถึงอย่างไรก็ไม่มีใครยอมเชื่อดอกว่าเราจะทำตัวเลวร้ายอย่างนั้นได้


ถ้าเลิกความเป็นเทพเสียได้ แต่ไม่ต้องถึงกับไปเป็นมารดอก
เพียงแต่คืนสู่ความเป็นคนธรรมดาสามัญ รู้เท่าทันตนเองเท่านั้น
ชีวิตก็จะน่าอภิรมย์และเป็นสุขอย่างยิ่ง


______________________________________
จาก สุขใจในนาคร ศิลปะแห่งการอยู่เมืองอย่างมีความสุข
โดย พระไพศาล วิสาโล

คัดลอกจาก...��ҹ���� carefor.org

ไม่มีความคิดเห็น: