วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พบน้ำใจ ที่วงน้ำชา กับ ภาษาหนังสือ บทความจากคุณ Numalee

ต้องขอขอบพระคุณ คุณ Numalee ที่ได้กรุณาบันทึกและเขียนเรื่องราวที่ดีๆ เกี่ยวกับกิจกรรมที่จัดในพื้นที่วงน้ำชา (หน้าชีวาทิพย์สปา จังหวัดขอนแก่น)

สมาชิกวงนำ้ชาขอนแก่นจึงขออนุญาตแบบไม่เป็นทางการเอามานำเสนอในพื้นที่ของวงน้ำชาแห่งนี้และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านอื่นๆ ได้ขยายผลการเรียนรู้เช่นนี้ออกไปเรื่อยๆ มีวงน้ำชาอยู่
ทุกๆ ที่ การเรียนรู้ตลอดชีวิตของเราจะได้เกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบสิ้น

สันติ สติและการเรียนรู้
สมาชิกวงน้ำชา

อ้างอิง http://www.oknation.net/blog/esanwriter/2009/08/21/entry-1
ผู้เขียน คุณ Numalee email : numalee101@hotmail.com
::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

วันศุกร์ ที่ 21 สิงหาคม 2552
พบน้ำใจ ที่วงน้ำชา กับ ภาษาหนังสือ
Posted by numalee , ผู้อ่าน : 67 , 11:14:17 น.
หมวด : วรรณกรรม/กาพย์กลอน

พิมพ์หน้านี้


มุม เล็กๆ ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของ "ชีวาทิพย์สปา" ริมบึงแก่นนคร เมืองขอนแก่น ที่นี่มีห้องเล็กๆ ที่มีคนเล็กๆ หลายคนมาร่วมทำกิจกรรม "วงน้ำชา วงน้ำใจ" ที่มีการจัดกิจกรรม "เสวนา"กันอยู่เนืองๆ ทั้งกิจกรรมทาง ศิลปะ อ่าน เขียน ฝึกสมอง ประลองฝีมือ นานาประการ

แม้ วงน้ำชาแห่งนี้ เพิ่งจะเกิดขึ้นได้ไม่นาน แต่ก็เป็นที่กล่าวขานของคนที่มีโอกาสมาพบเจอ เพราะเป็นมุมสบาย ที่มีหนังสือดีๆ หายากให้อ่าน ให้เลือกซื้อแล้ว ที่นี่ยังมีน้ำชาอร่อยๆ ที่หากินได้ไม่ง่ายนักไว้คอยบริการโดยไม่คิดสตังค์ แต่หากใครมีน้ำใจก็หยิบยื่นลงกล่องเพื่อบริจาคร่วมกันได้

และ วงเสวนา "BOOK CLUB" (กำลังหาชื่อภาษาไทย ใครสนใจร่วมแสดงความคิดเห็นและตั้งชื่อได้) ที่ก่อตั้งกันแบบไม่เป็นทางการ ก็ได้เกิดขึ้นที่นี่เช่นกัน เกิดขึ้นเพราะคนที่รักการอ่านหนังสือ อยากจะมีเวทีที่ได้พูดคุย แลกเปลี่ยน และเรียนรู้ถึงความชอบ ความรัก ของคนที่รักหนังสือเช่นกัน

และเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ "BOOK CLUB" ได้มีโอกาสนัดรวมพลกัน โดยมีเกณฑ์ว่า คนที่มาจะต้องถือหนังสือที่ตัวเองรัก และ ชอบอ่านมากที่สุด เรียกว่าเป็นหนังสือในดวงใจ มาคนละ 1 เล่ม พร้อมกับบอกเล่าถึงเหตุผลที่ตัวเองชอบให้เพื่อนฟัง

ซึ่งแต่ละคนก็ หยิบหนังสือที่ชอบติดมือมา พร้อมบอกเล่าความในใจอย่างอิ่มเอม พร้อมดวงตาที่อิ่มสุข เนื่องจากไม่ค่อยมีโอกาสมากนัก ที่จะมีเวทีเสวนา ที่เปิดโอกาสให้ใครสักคนมาพูดคุยถึงเรื่องราวของหนังสือที่เขาชอบอ่าน

ลุงตุ๊ หยิบหนังสือ "จิตว่าง"ของท่านพุทธทาสภิกขุมาบอก

เฮียลื้อ หยิบ "ต้นทางที่มะละแหม่ง"ขององค์ บรรจุน มาเล่า

คุณดี หยิบ สิทธิธัตถะ ฉบับภาษาอังกฤษ มาบรรยาย

พี่เด หยิบหนังสือธรรมะเล่มโปรดมาเสนอแนะ

คุณน้อย ชอบเล่มเดียวกับพี่เด

คุณหน่อย หยิบ "อ่านหนังสือเล่มนี้เถอะที่รัก"มาเล่าความในใจให้ฟัง

น้องพฤกษ์ หยิบ ไล่ตงจิ้น มาบอกเล่า ฯลฯ

หลังจบเวที สมาชิกทุกคน แลกหนังสือกันอ่าน โดยมีเวลานัดหมายว่า ครั้งต่อไป ให้สมาชิกเอาหนังสือที่แลกกันอ่าน กลับมาคืนกันอีกครั้ง

แล้วครั้งที่ 2 ก็เริ่มขึ้นอีก เมื่อวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยนัดนี้มีสมาชิกมาเพิ่มอีกหลายคน

พี่ตึ๋ง ที่พาน้องเชนทร์ และ ภรรยาสาวสวย คุณกุ้ง มาบอกว่า ชอบวรรณกรรมเยาวชน บ้านเล็กในป่าใหญ่

พี่เล็ก ทนายสาวบอก ชอบหนังสือธรรมะ และอยากจะพิมพ์เผยแพร่

พี่กุ้ง แห่งเคหะ บอก ชอบธรรมะเช่นกัน และกลังปฏิบัติธรรมอยู่

อ.เรียว จาก มข.หยิบ "ทะเลน้ำนม"ของชัชวาลย์ โคตรสงคราม มาบอกเล่า ทำให้หลายคนอยากอ่านบ้าง

พี่จิ๊บ แห่งตึกคอม (คอมพิวเตอร์ มข.)บอกชอบ วิถีแห่งเต๋ม ปล่อยวางอย่างเซน และจิตว่าง ของท่านพุทธทาส

น้องอิม คนสวย ชอบ คนรักของความเศร้า ผลงาน อังคาร จันทาทิพย์

คุณเอิร์ท บอกชอบ เพียงผ่านพบ ไม่ผูกพัน ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล พร้อมเรื่องประทับใจ "ชอบผมได้นะ แต่อย่าเป็นเหมือนผม"

หลัง จบการพูดคุย ของคนที่มีหัวใจเดียวกัน ความเต็มอิ่ม และ ความสุขปรากฎขึ้นเต็มใบหน้า ก่อนลาจากกันอีกวัน เรานัดหมายพบกันอีกที ในวันเสาร์ที่ 29 สิงหาคมนี้ ในอารมณ์ของบทกวี "วรรคทองในหัวใจ" ที่หลายคนอาจจะมีวรรคทองที่ฝังในใจ และใช้เป็นคำสอนตนเองอยู่เสมอ แต่ไม่มีโอกาสได้บอกเล่าให้ใครฟัง

ใครสนใจ อยากจะร่วมบรรยากาศพูดคุยแบบภาษาหนังสือ ภาษากวี ก็เชิญมาร่วมพูดคุย ถ่ายทอด ร่วมกันได้ที่นี่ ตั้งแต่เวลา 17.30 น.เป็นต้นไป และในวันนี้ ยังจะมีโอกาสดี จะได้ฟังการอ่านบทกวีของ "อรอาร อุษาสาง" นักเขียนรุ่นใหม่ ที่เพิ่งคลอดผลงานรวมเล่มบทกวี "บนพื้นผิวแผ่นดินที่กำลังแตกกระจาย"ด้วย

หวังว่าคนรักหนังสือคงไม่พลาดที่จะพบเจอกันที่นี่ ....


อ่านความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 4
ยโสธรโพนทัน วันที่ : 25/08/2009 เวลา : 12.21 น.
http://www.oknation.net/blog/sanya



สบายดี
ความคิดเห็นที่ 3
tatuk วันที่ : 23/08/2009 เวลา : 21.08 น.
http://www.oknation.net/blog/tatuk
หวังรักอุ่นนิรันดร์ รักเรียบง่ายแต่งดงาม...



นักเขียนสนใจพบปะนักอ่านเสมอ
เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครจัดเวทีให้นำเสนอผลงานนัก
ขอบคุณที่เปิดโอกาสให้ อรอาย อุษาสาง ได้ร่ายรำคำกวีแถวนั้น


ความคิดเห็นที่ 2
กลองไท วันที่ : 21/08/2009 เวลา : 20.29 น.
http://www.oknation.net/blog/kraitong
ไทนาหว้า



แวะมาชื่นชมกิจกรรมดีๆครับ
ความคิดเห็นที่ 1
ลูกเสือหมายเลข9 วันที่ : 21/08/2009 เวลา : 11.18 น.
http://www.oknation.net/blog/chai
<<==แวะไปทัก..แล้วคุณจะรักหนุ่มคนนี้



มาออกความเห็นนิดหนุ่งนะครับ
ผมอ่านพบเสมอ และเชื่อมาตลอด ว่านักประพันธ์ เป็นกลุ่มคนที่พบปะแลกเปลี่ยนความคิดกันมากที่สุด
มากกว่านักแสดง นักดนตรี
แต่ทำไมไม่เคย"แปร"ผลการพบปะออกมาเป็น"รูปธรรม"เพื่อขยายวงการอ่านหนังสือ ..

นักเขียนก็มีแฟนคลับนะครับ
แต่ทำไมคนอ่านหนังสือในเมืองไทยไม่เพิ่มขึ้น
คนที่เป็นนักเขียนไม่สนใจประเด็นนี้เหรอ

วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สนทนากับกาน้ำชา ครั้งที่ ๑ วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๒

ที่วงน้ำชา เย็นวันนี้ เราได้โอกาสเหมาะมานั้งจิบชา ชมแสงอาทิตย์ยามเย็นรอบบึงแก่นนคร พวกเรานั่งสนทนากันอยากเริงใจเป็นอย่างไรก็เลยมาลองหาคำตอบกัน...

ย้อนไปเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว มีชาวต่างชาติคือคุณ Kristine (ชาวสหรัฐฯ) ได้แวะมาที่วงนำ้ชา เราคุยกันถึงกิจกรรมและการพูดคุยกันอย่างออกรส ตบท้ายเธอได้เล่าให้เราฟังว่า เธอเคยเข้าร่วมกิจกรรมการสนทนาชนิดหนึ่ง คือการที่ให้ทุกคนเขียนคำถามอะไรก็ได้ขึ้นมา
คนละ ๓-๕ คำถาม ในแผ่นกระดาษ แผ่นเล็กๆ แล้วก็ให้ผู้คนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้จับฉลากนั้นขึ้นมาทีละใบ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลองตอบคำถาม โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าเกิดคำถามใดโดนใจก็จะตอบ ถ้าเกิดว่ารู้สึกไม่อยากตอบก็ไม่ต้องตอบและจะให้โอกาสให้มีคนพูดครั้งละหนึ่งคน โดยที่เหลือก็ฟังอย่างตั้งใจ จะโต้ตอบบ้าง หรือถามเสริมต่อก็ได้ไม่เป็นไร แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นต้องเคารพสิทธิผู้ตอบคำถามหรือผู้ถูกถามว่าจะตอบหรือไม่ตอบก็ได้

เมื่อวงน้ำชาได้ฟังก็เลยเกิดความคิดว่าน่าจะลองทำกิจกรรมการสนทนานี้ดู
ฟังแล้วเหมือนไม่มีอะไร แต่พ่อคำถามแรกถูกถาม ก็เกิดการสนทนาอย่างออกรสออกชาด
พวกเรานั้งล้อมวงคุยกันไป จิบน้ำชาไป ตั้งแต่หกโมงเย็น มารู้ตัวอีกทีก็ ๔ ทุ่มแล้ว

นี้เป็นตัวอย่างความรู้สึกของพี่ๆ น้องๆ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการสนทนากับกาน้ำชาในครั้งนี้
*ครั้งนี้เรามีคนเข้าร่วมกันอยู่ ๘-๑๐ คน

"ผู้คนเพ่นพ่านละลานตา คุณค่าในตัวแตกต่าง
ดีเลวปะปนระคนบ้าง เปิดใจปล่อยวางร่วมทางกัน" จากคุณ Nilita

"การเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดคือการที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองและผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง
หากใช่การเรียนรู้ทางด้านวิชาการอันจะทำให้เราวิ่งตามสิ่งที่มีคนเขารู้กันอยู่แล้ว" พีุ่เป็ด

"ความรู้สึกในตอนนี้ที่ได้มาตอนแรกๆ รู้สึกแปลกในกิจกรรมนี้ แต่พอนั่งฟังคนอื่นตอบคำถาม
เราก็ได้รู้ความคิดและมุมมองที่บางอย่างก็เหมือนกับเราแต่บางอย่างที่เราคิดไม่ถึงก็มี
ทำให้เราได้เปิดในมุมมองใหม่ๆ ครับ"

"การบำบัด การเพิ่มพลัง การย้อนสู่อดีต การภาวนา การสบตาตั้งใจฟัง การเติบโต
การอดทน การรอคอย การใคร่ครวญ การพัฒนาฯลฯ ทุกสิ่งเกิดมาจากวงน้ำชา"
วันที่ ๒๑ ส.ค. ๕๒ ขอพลังสติจงอยู่กับท่าน จากคุณสอยอ

"วงน้ำชา" คุณรู้จักหรือเปล่า ผมหน่ะมาเพราะจำการปลดปล่อย ส่ิงที่เป็นตัวเรา สิ่งที่เป็นคนอื่น
ทุกคนไม่มีเรื่องปิดบังกัน ทุกคนมีอิสระภาพเป็นอย่างมาก เลยครับ ที่ผมอยากบอกก็คือ
มาบอกเล่าความเป็นคุณ มันจะสนุกมากเลยน่ะ เรามีเพื่อนต่างวัยมากเลย และคุณจะพบกับส่ิงดีๆ"
จากคุณกง

"Ah! I am frustrated...I wish I can understand Thai so I can understand everyone's stories.
How can I understand? How can I learned? Help me, but in the end, I leave with a smile. :)" JT

"ขอบคุณวงน้ำชามากๆ ค่ะ ที่เป็นสถานที่ให้ได้เรียนรู้ชีวิตและมุมมองที่หลากหลายที่ได้รับในวันนี้
อยากให้มีแบบนี้อีกน่ะค่ะ"

"เหนื่อยมาก แต่หายเหนื่อยแล้ว ขอบคุณทุกคนมากๆ" หมอแจ็ค

*ภาพบรรยากาศวงสนทนากับกาน้ำชา






















































ตบท้ายเราก็เลยรู้สึกร่วมกันว่าจะจัดการสนทนาแบบนี้ หรือกิจกรรมการพูดคุยในลักษณะเช่นนี้ในทุกๆ วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ น. เป็นต้นไป หากท่านสนใจและอยากค้นตนเองและเรียนรู้จากผู้อื่น
ขอเชิญมาร่วมกิจกรรมนี้ได้ที่วงน้ำชาขอนแก่น(หน้าชีวาทิพย์สปา) ร้านเปิดวันอังคารถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐ น. หรือ ๑๗.๐๐ น. ถึง ๒๒.๐๐ น.และวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ น. ถึง ๒๒.๐๐ น.



หรือหากว่าท่านสนใจที่จะพาเราทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันแต่รูปแบบอื่นๆ ก็สามารถติดต่อเรา
เพื่อแสดงความจำนงค์ในการจัดเวทีได้เช่นกัน ที่ e-mail: wongnamchakhonkaen@gmail.com
หรือโทร. ๐๘๑-๙๗๔-๐๒๙๐ (คุณดี), ๐๘๕-๔๙๖-๖๖๙๖ (คุณเป็ด), ๐๘๕-๐๐๕-๑๕๕๔ (คุณสอยอ)

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สุนทรียสนทนากับอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญูู บ่ายวันศุกร์ที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ ณ วงน้ำชาขอนแก่น


อาจารย์วิศิษ์ วังวิญญู: กระบวนกรประจำงาน

ประวัติ วิศิษฐ์ วังวิญญู วิศิษฐ์ เป็นนักคิดนักเขียนอิสระ เติบโตมาในยุคความตื่นตัวทางการบ้านการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัย ตัดสินใจออกจากบ้านชนชั้นกลางอันอบอุ่น และมหาวิทยาลัยสองแห่งคือมหิดลและธรรมศาสตร์ เพื่อมาหาความหมายของชีวิตด้วยตัวเอง แปลหนังสือ เขียนหนังสือในเรื่องราวของการแสวงหาใหม่ ๆ ทั้งทางปรัชญาและการศึกษา ด้วยประสบการณ์อันแหวกแนว นอกจากนี้ ยังมีชั่วโมงบินทางงานบริหารจัดการทางองค์กรธุรกิจ ไม่ต่ำกว่าสิบปี ล่าสุดทำงานเป็นกระบวนกร หรือวิทยากรกระบวนการ เพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นสมุหภาพ อยู่ในแนวหน้าของพรมแดนความรู้ของกระบวนทัศน์ใหม่ทางวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่ง ผลงานอื่น ๆ ของเขาได้แก่ งานแปล บทละครทางกลับคือการเดินทางต่อของ ติช นัท ฮันห์ (แปลร่วมกับ สันติสุข โสภณสิริ) แผนที่คนทุกข์ อี เอฟ ชูมากเกอร์ เสรีภาพไม่ใช่การตามใจ เอ เอส นีล (แปลร่วมกับ สมบัติ พิศสะอาด) การศึกษาเพื่อความเป็นไท อดัมเคิล ดวงตะวัน ดวงใจฉัน ติช นัท ฮันห์ จิตที่แปรเปลี่ยน สมเด็จ องค์ทะไลลามะ กล้าฝัน เพื่อมนุษยชาติ สมเด็จ องค์ทะไลลามะ โยงใยที่ซ่อนเร้น ฟริตจอบ คราปา งานเขียน มณฑลแห่งพลัง สุนทรียสนทนา โฮมเมดสกูล คู่มือกระบวนกร (เขียนร่วมกับหมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์ และณัฐฬส วังวิญญู) เดินทะลุกำแพง การปฏิวัติในถ้วยน้ำชา

บทสรุปจากการเข้าร่วมสนทนา ณ วงน้ำชาขอนแก่น โดยมีอาจารย์วิศิษฐ์ เป็นกระบวนกรหลัก


***หมายเหตุ: สรุปบทเรียนโดยครูสอยอ อาสาสมัครที่วงน้ำชาขอนแก่น
*****กรุณาคลิกที่ภาพหากต้องการอ่านรายละเอียด*****


*ภาพที่ ๑: บรรยากาศการสนทนาภายในงาน

**ภาพที่ ๒: ตั้งวงคุยกันและฟังด้วยใจอย่างใคร่ครวญ

*ภาพที่ ๓: ผู้เข้าร่วมการเสวนามาจากหลากหลายสาขาอาชีพ

*ภาพที่ ๔: อาจารย์วิศิษฐ์ สรุปบทเรียนและบอกเล่าเรื่องราว

*หมายเหตุ: หากท่านทั้งหลายมีความสนใจที่จะจัดวงพูดคุยและสนทนาอย่างสร้างสรรค์โดยที่จะใช้พื้นที่ ณ วงน้ำชา ท่านสามารถติดต่อได้ที่ โทร. ๐๘๑-๙๗๔-๐๒๙๐ (คุณอดิศักดิ์), ๐๘๕-๔๙๖-๖๖๙๖ (คุณเป็ด), ๐๘๕-๐๐๕-๑๕๕๔ (คุณสอยอ) หรือที่อีเมลย์ wongnamchakhonkaen@gmail.com

ศิลปะและสัจธรรมในรส “ชา” โดยพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล


ปาจารยสาร เมษายน ๒๕๕๒

ศิลปะและสัจธรรมในรส “ชา
พระไพศาล วิสาโล


ตั้งแต่ เล็กข้าพเจ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจศิลปะเท่าไร ประสบการณ์ทางศิลปะส่วนใหญ่ก็จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนในชั่วโมงศิลปะและ ดนตรี พยายามวาดให้เหมือนอย่างที่ครูสอนและร้องเพลงอย่างที่ครูแนะนำ เวลาอยู่นอกห้องเรียนถ้าจะได้ฟังเพลงส่วนใหญ่ก็จากวิทยุหรือเครื่องเล่นแผ่น เสียงที่พี่ชายเปิดทุกเย็น หากจะมีอะไรที่ใกล้เคียงศิลปะอยู่บ้างในความรู้สึกของตัวเอง นั่นก็คือฟุตบอล เวลาดูหรือเล่นฟุตบอล จะได้เห็นความงดงามจากลีลาการเล่น ฟุตบอลเป็นความสวยงามที่ดึงดูดใจตนเองมากทั้งในฐานะผู้ดูและผู้เล่น

อย่างไร ก็ตามความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นเมื่อหันมาสนใจความงามในวรรณกรรมและ ธรรมชาติ ผู้ที่เป็นสะพานนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือพจนา จันทรสันติ ตอนนั้นเขาเริ่มแปล “เต๋า”เป็นภาษาไทย แม้จะไม่ค่อยเข้าใจงานของเหลาจื๊อมากนัก แต่เมื่อได้อ่านงานแปลของพจนาก็เริ่มสัมผัสถึงความงามในถ้อยคำและธรรมชาติ ยิ่งได้มีเวลาช่วงหนึ่งออกค่ายในบริเวณอุทยานแห่งชาติกับพจนา ก็ได้เรียนรู้ที่จะใช้ใจในการรับรู้ธรรมชาติและสรรพสิ่ง นอกเหนือจากการใช้ความคิดและเหตุผล ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้จิตใจละเอียดอ่อนมากขึ้น

ช่วงที่หันมาสนใจศิลปะอย่างจริงจังก็เมื่อได้ไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในกรุงปารีส ทั้งเมืองเต็มไปด้วยศิลปะ สามารถสัมผัสได้ตลอดเวลาที่อยู่บนท้องถนน เพราะปารีสมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามมากทั้งเมือง ยิ่งได้มีโอกาสไปชมงานศิลปะตามพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ โดยเฉพาะลูฟว์ ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ และใกล้ชิดกับศิลปะมากขึ้น ช่วงเวลา ๓-๔ เดือนที่นั่นเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ทางด้านศิลปะ แม้จะไม่ลึกซึ้งก็ตาม

เมื่อ ได้มาบวชอยู่ในวัดป่า การอยู่ท่ามกลางป่าที่เงียบสงบ ก็ทำให้จิตใจละเอียดอ่อนมากขึ้น เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าความสุขอันประณีต ซึ่งสามารถเกิดจากใจที่สงบ จากธรรมชาติที่วิเวก หรือจากงานศิลปะที่ลุ่มลึกก็ได้ แต่จะว่าไปแล้วหากจิตละเอียดเพียงพอ ก็สามารถเห็นความงดงามได้จากสิ่งสามัญทั้งหลายที่อยู่รอบตัว งานศิลปะชั้นนำเป็นอันมากก็เกิดจากวาบแห่งความงามจากสิ่งธรรมดาสามัญนั่นเอง

ศิลปะและสุนทรียภาพสามารถมีอิทธิพลต่อจิตใจของคนเราได้หลายระดับ ระดับแรกคือความติดใคร่ใฝ่หา เป็นความรู้สึกอยากชิดใกล้ อยากได้หรืออยากครอบครอง (พุทธศาสนาเรียกว่าราคะ) ระดับต่อมาคือความรู้สึกดื่มด่ำ ปีติ สูงขึ้นมาอีกคือความสงบ และสูงที่สุดคือความรู้สึกแบบ transcendence หรือภาวะที่เหนือสามัญ เป็นสภาวะที่จิตได้สัมผัสกับความจริงขั้นสูงสุดหรืปรมัตถ์ เช่น ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและจักรวาล สภาวะที่อัตตาตัวตนได้เลือนหาย ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างฉันกับโลกอีกต่อไป อยู่เหนือบัญญัติหรือความจริงแบบทวินิยม (dualism) เป็นสภาวะที่จิตเปี่ยมด้วยเมตตากรุณาอย่างไม่มีประมาณ

มองในแง่นี้ศิลปะมิใช่ตรงข้ามกับศาสนา แต่สามารถเป็นสื่อนำผู้คนเข้าถึงมิติที่ลึกซึ้งสูงสุดในทางศาสนธรรมได้ เซนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เชื่อมศิลปะเข้ากับการขัดเกลาทางจิตวิญญาณได้ อาทิ ศิลปะการชงชา ซึ่งดูเผิน ๆ เป็นเรื่องของพิธีกรรมที่ซับซ้อน แต่ที่จริงเป็นกระบวนการกล่อมเกลาจิต ตั้งแต่ระดับพื้น ๆ คือ การได้สัมผัสกับความงามและรสชาติทางผัสสะ ไปจนถึงการน้อมใจให้สงบ และเข้าถึงความจริงที่เหนือสมมติ

เริ่มแรกก็คือ การดื่มชามัทชะมิใช่เป็นแค่การเสพรสชาเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสที่จะได้ชื่นชมความงามของถ้วยชา ทั้งด้วยสายตาและสัมผัส รูปลักษณ์ เส้นสี และพื้นผิวของถ้วยชานั้นเป็นผลงานศิลปะที่จรรโลงใจ และให้ความรู้สึกละเมียดละไมไม่แพ้รสชา

จะว่าไปแล้วความสุขจากชานั้นเกิดขึ้นก่อนที่จะได้ดื่มชาเสียอีก เพราะกระบวนการก่อนหน้านั้นสามารถให้ประสบการณ์ที่ดีแก่จิตใจได้

พิธีชงชาที่สมบูรณ์แบบจะมีขึ้นได้ก็เฉพาะในห้องหรือในเรือนหลังเล็ก ๆ ที่เรียบง่ายไร้สิ่งประดับประดา ซึ่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การชงชาจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า เริ่มตั้งแต่ทำความสะอาดภาชนะได้แก่ ถ้วยชา ช้อนตักผงชา ไม้กวนน้ำชา ล้างด้วยน้ำแล้วเช็ดด้วยผ้า จากนั้นจึงใส่ผงชา เติมน้ำร้อน แล้วกวนน้ำชาจนแตกเป็นฟอง แล้วจึงนำมามอบให้แก่อาคันตุกะ ขั้นตอนทั้งหมดนี้จะได้ชามาเพียงถ้วยเดียวเท่านั้น หากผู้ร่วมพิธีมี ๑๐ คน ก็ต้องทำ ๑๐ ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๓ นาที

เวลาที่เนิ่นนาน บรรยากาศที่สงบไร้เสียงพูดคุย และความสลัวภายในห้อง จะค่อย ๆ น้อมใจผู้คนให้สงบ ผัสสะจะละเอียดขึ้น และความสุขจะบังเกิดทีละน้อย ๆ จากการได้ยินเสียงน้ำเดือดในกาและเสียงนกร้อง และจากการชื่นชมภาชนะที่ใช้ในการชงชา ซึ่งเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เมื่อน้ำชาถูกนำมาต้อนรับ ใจที่สงบย่อมเข้าถึงรสชาติอันสุขุมลุ่มลึกได้ไม่ยาก

ศิลปะที่สุดยอดนั้นคือความงดงามที่กล่อมเกลาจิตให้สงบ นิ่ง และเย็น เข้าถึงภาวะที่โปร่งเบา และสัมผัสกับมิติอันลึกซึ้งภายใน แต่คุณค่าของศิลปะมิได้มีเพียงเท่านั้น หากยังสามารถนำพาให้ผู้คนซาบซึ้งถึงสัจธรรมของชีวิตด้วย

ในวัฒนธรรมการชงชาของญี่ปุ่น ถ้วยชาที่ถือว่างดงามและมีคุณค่าอย่างยิ่ง คือถ้วยชาที่มีผิวไม่เรียบ รูปทรงไม่สม่ำเสมอ และเปิดเนื้อดินเผาโดยไร้เครื่องเคลือบ ราวกับเป็นงานที่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่งานเหล่านี้เป็นฝีมือของช่างชั้นครูที่เข้าถึงสุดยอดของศิลปะ คุณคงคาดไม่ถึงว่าถ้วยรูปร่างแปลก ๆ เหล่านี้บางใบมีมูลค่าสูงกว่ารถเบ๊นซ์เสียอีก แต่คุณค่าที่สำคัญกว่านั้นคือการเผยแสดงสัจธรรมของชีวิตและโลกว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ นี้ก็เช่นเดียวกับเรือนชงชา ที่เปิดเนื้อไม้แสดงถึงความเก่าแก่ คร่ำคร่า ย้ำเตือนถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง

ชีวิตคือความไม่สมบูรณ์แบบ มิอาจเป็นดั่งใจได้เสมอไป ขึ้นแล้วก็ลง งดงามแล้วก็แก่หง่อม หาความจิรังยั่งยืนไม่ได้ นี้คือสัจธรรมความจริง ที่ถูกยกย่องให้เป็นศิลปะอันน่าชื่นชม ผ่านวัฒนธรรมการชงชา ใครที่ร่วมพิธีชงชาจะถูกย้ำเตือนความจริงข้อนี้ จนอาจได้คิดว่าชื่อเสียง เกียรติยศ และความมั่งคั่งนั้น เป็นมายา แต่ถึงแม้จะไม่ยอมรับ ก็ต้องถูกพิธีนี้บังคับให้จำต้องยอมรับจนได้ เพราะทางเข้าเรือนชงชานั้นต่ำมาก จนแม้แต่จักรพรรดิหรือโชกุนก็ต้องก้มหัวเข้าไปเช่นเดียวกับสามัญชน และเมื่อเข้าพิธีแล้ว ไม่ว่าใครก็มีสถานะเสมอกัน

ศิลปะนั้นมักจะมองว่าเป็นเรื่องของความงาม แต่ศิลปะการชงชาเป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าศิลปะก็สามารถเป็นสื่อแห่งความจริงได้ ความจริงนั้นมี ๒ ระดับ คือ ความจริงแบบสมมติ (สมมติสัจจะ) กับความจริงแบบปรมัตถ์ (ปรมัตถสัจจะ) นาย ก. เป็นรัฐมนตรี นาย ข. เป็นชาวนา นี่เป็นความจริงแบบสมมติ แต่เมื่อพูดถึงความจริงระดับปรมัตถ์แล้ว ทั้ง ๒ คนไม่ได้ต่างกันเลย เพราะต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกัน หน้าที่อย่างหนึ่งของศิลปะคือการเปิดใจให้คนเห็นความจริงขั้นปรมัตถ์ ไม่หลงติดอยู่กับสมมติ

ความจริงยังสามารถแบ่งออกเป็น ความจริงแบบเฉพาะ และความจริงที่เป็นสากล งานศิลปะหลายชิ้นมีชื่อเสียง เป็นที่ยกย่องเพราะเปิดเผยสภาวะทางจิตของคนร่วมสมัย เช่น ความทุกข์ ความเหงา ความโดดเดี่ยว ได้อย่างมีพลัง ชนิดที่สัมผัสได้ด้วยใจ ทำให้เกิดอารมณ์สะเทือนไหว
หรือรู้สึกเหงาและหนาวเหน็บไปถึงหัวใจ

แต่มีงานศิลปะอีกหลายชิ้นที่ถ่ายทอดความจริงที่เป็นสากล เป็นอกาลิโก เช่น ความไม่เที่ยง ความพลัดพราก ที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบ หรือพลังแห่งความกรุณาปราณีที่โอบอุ้มมนุษยชาติเอาไว้ บ้างก็เปิดใจให้เราเห็นอานุภาพแห่งธรรมะหรือสิ่งสูงสุด ที่ทำให้เรามีความหวังแม้ในยามมืดมิดที่สุดของชีวิต

งานศิลปะชั้นครู เมื่อเปิดเผยความจริงให้เราสัมผัส ไม่ว่าความจริงเฉพาะหรือความจริงอันสากล มักก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในอันที่จะทำสิ่งดีงาม งานบางชิ้นถ่ายทอดโศกนาฏกรรมของเพื่อนมนุษย์ได้อย่างสะเทือนใจ จนเราไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ เพราะรู้สึกถึงแรงผลักจากมโนธรรมภายในให้อยากทำบางอย่างเพื่อช่วยเหลือเขา

ดังนั้นนอกจากความงามและความจริงแล้ว ศิลปะยังสามารถเป็นสื่อกระตุ้นให้เกิดความดีขึ้นได้ ความงาม ความจริง และความดีจึงมิใช่สิ่งที่แยกจากกัน กล่าวได้ว่าหน้าที่สูงสุดของศิลปะก็คือ ประสานความงาม ความดี และความจริงให้เป็นหนึ่งเดียวกันนั่นเอง

ชีวิตนั้นมีหลายมิติ เราแต่ละคนมีสัมพันธภาพที่หลากหลาย ในฐานะปัจเจกบุคคล เราต้องสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว อาทิ ผู้คน สังคม และธรรมชาติ ขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ละเลยชีวิตด้านในจนแปลกแยกกับตัวเอง จะทำเช่นนั้นได้ เราต้องสัมพันธ์กับสิ่งสูงสุดด้วย ไม่ว่าจะเป็นปรมัตถสัจจะ นิพพาน หรือพระเจ้าก็ตาม

หากสัมพันธภาพกับผู้คน สังคม และธรรมชาติ เป็นสัมพันธภาพแนวนอน สัมพันธภาพแนวตั้ง เบื้องล่างคือสัมพันธภาพกับชีวิตด้านใน เบื้องบนคือสัมพันธภาพกับสิ่งสูงสุด

ในฐานะที่เป็นสะพานพาให้เข้าถึงความงาม ความจริง และความดี ศิลปะคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรามีสัมพันธภาพกับสรรพสิ่งอย่างรอบด้าน ทำให้เราเห็นคุณค่าของธรรมชาติ เห็นมนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน หยั่งลึกถึงจิตวิญญาณของตน และเข้าถึงสิ่งสูงสุดได้

ศาสนามีความหมายกับชีวิตอย่างไร ศิลปะก็มีความหมายอย่างนั้นกับเรา ชีวิตที่ดีงามกับศิลปะจึงไม่อาจแยกจากกันได้ ศิลปะช่วยให้ความเป็นมนุษย์ของเราสมบูรณ์และงดงาม

"ติดดี" โดยพระอาจารย์ไพศาล

ติดดี - พระอาจารย์ไพศาล: คัดลอกบทความจาก www.palungjit.com




--------------------------------------------
สำหรับผมแล้ว บทพระธรรมเทศนานี้ ดีมากจริงๆ เลยคัดลอกมาฝากครับ
ผิดพลาดล่วงเกิน ขออภัยขอขมาครับผม ..... จขกท
--------------------------------------------

เมื่อมีภาพพจน์ว่าเป็นคนดีแล้ว
เราก็มีภาระที่จะต้องทำตัวให้เป็นคนน่ารัก ยิ้มแย้มแจ่มใส
ยิ่งเป็นที่นับถือรักใคร่ของคนทั่วไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพลิดเพลิน
จนทำตัวให้เกินเลยจากที่ตัวเองเป็นมากเท่านั้น...


------------------------------------------------------

ใครๆ ก็อยากเป็นคนโอบอ้อมอารี มีจิตใจมั่นคงหนักแน่นสุภาพอ่อนน้อม
เสียสละเพื่อผู้อื่น ไม่ต้องอธิบายก็รู้ว่า ลักษณะเหล่านี้เป็นคุณสมบัติของคนดี
เป็นคุณธรรมที่ควรมีประจำจิต แต่คุณธรรมและความดีนั้น
ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน ก็อาจโดนมันขบกัดเข้าได้ง่ายๆ

ถ้ายังสงสัย ลองฟังนิทานสองเรื่องนี้ดู

อาจารย์ผู้หนึ่งเป็นที่เลื่องลือว่าสำเร็จธรรมขั้นสูงจิตใจไม่หวั่นไหวกับอะไรง่ายๆ
คราวหนึ่งเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา ลูกศิษย์ทั่วทั้งสำนักแตกตื่น
แต่ท่านกลับสงบนิ่ง ยังความประทับใจแก่ลูกศิษย์เป็นอันมาก

หลายวันต่อมา เมื่อสานุศิษย์ถามอาจารย์ว่า จิตใจที่มั่นคงหนักแน่นหมายถึงอะไร
อาจารย์ก็อ้างท่านเป็นตัวอย่างด้วยความภาคภูมิใจว่า
"ท่านเห็นหรือไม่ว่า ขณะที่ทุกคนวิ่งแตกตื่นยามเกิดแผ่นดินไหว
เรากลับนั่งเฉยและจิบน้ำชาอย่างสงบ
พวกท่านเห็นมือของเราสั่นขณะถือแก้วหรือไม่ ?"

"ไม่ครับ" ศิษย์ผู้หนึ่งตอบ และกล่าวต่อไปว่า
"แต่อาจารย์ไม่ได้ดื่มน้ำชานะครับ อาจารย์ดื่มซีอิ๊วต่างหาก"

เรื่องที่สองก็เกี่ยวกับอาจารย์อีกเหมือนกัน แต่เป็นคนละสำนัก
คราวหนึ่ง ท่านได้ออกธุดงค์กับศิษย์ เมื่อถึงกลางป่าก็เจอช้างตกมันวิ่งเข้าหา
ทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์วิ่งหนีคนละทิศละทาง

หลายปีต่อมา ขณะที่อาจารย์ป่วยหนักนอนแบบอยู่
ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปได้นานอีกเท่าใด ลูกศิษย์ตัดสินใจรวบรวมความกล้า
ถามปัญหาที่ติดค้างในใจมานานว่า "อาจารย์ตกใจด้วยหรือเมื่อเจอช้างป่า ?"

"ไม่หรอก" อาจารย์ตอบ
"ถ้าเช่นนั้นทำไมอาจารย์ถึงวิ่งหนีพร้อมกับเราล่ะครับ ?"
"เราคิดว่า การหนีช้างป่านั้นดีกว่าการอยู่อย่างลำพองใจเป็นไหนๆ " อาจารย์ตอบ

การไม่หวั่นไหวต่อภยันตรายนั้นเป็นเรื่องดี

แต่ถ้าเลือกได้ระหว่างอาจารย์สองคนนี้ ท่านอยากเป็นคนไหน ?
ใครที่เข้าถึงคุณธรรมมากว่ากัน ?

คุณธรรมและความตั้งมั่นแห่งจิตนั้น ย่อมนำความสุขมาให้แต่ขณะเดียวกัน
ความลำพองใจว่าตนนั้นเลิศประเสริฐกว่าผู้อื่น
ก็มักหาโอกาสเล็ดลอดตามมาด้วย ถ้าไม่ระวังมันก็เข้าครองใจได้โดยง่าย


---------------------------

ความคิดความสามารถในทางจิตใจนั้น
มักเป็นหลุมพรางให้เราหลงติดกับดักของกิเลสอีกชนิดหนึ่ง
ที่ละเอียดและแนบเนียนยิ่งกว่าความโลภและความโกรธ
นั่นคือความถือตัวหลงตน ความสำคัญตนว่าเป็นคนดี มีคุณธรรม

เมื่อใดที่เราสำคัญตนว่าเราเป็นคนดี คนอื่นก็ดูด้อยกว่าเราไปหมด
(ยกเว้นคนที่ทำตัวได้ดีกว่าเรา) ถ้าไม่เหม็นเบื่อคนอื่น
ก็มักจะมีอาการสงสาร อยากจะสอนอยากชี้แนะอยู่ร่ำไป

ขณะเดียวกันจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ก็มักจะหาโอกาสแสดงตน
ให้ผู้อื่นเห็นความดีความสามารถของเราอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย


ครั้นผู้คนยอมรับนับถือความดีของเรา เราก็มีภาพพจน์ที่จะต้องรักษา
แต่ขึ้นชื่อว่าภาพพจน์แล้ว ก็ล้วนเป็นภาระที่ต้องแบกต้องหามทั้งนั้น
เราทนไม่ได้หากคนอื่นจะเห็นความอ่อนแอหรือความเห็นแก่ตัวของเรา

ดังนั้นจึงต้องปกป้องตนเองอยู่เสมอ บ่อยครั้งต้องทุ่มเถียงเป็นวรรคเป็นเวรว่า
ฉันไม่ได้โกรธ ไม่ได้พูดโกหก ไม่ได้เห็นแก่ตัว ฯลฯ
ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดามิใช่หรือหากคนเราจะโกรธ จะพลั้งเผลอ
หรือมีความเห็นแก่ตัวอยู่บ้างตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่

เมื่อมีภาพพจน์ว่าเป็นคนดีแล้ว เราก็มีภาระที่จะต้องทำตัวให้เป็นคนน่ารัก
ยิ้มแย้มแจ่มใส ยิ่งเป็นที่นับถือรักใคร่ของคนทั่วไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพลิดเพลิน
จนทำตัวให้เกินเลยจากที่ตัวเองเป็นมากเท่านั้น

นานเข้าก็หลงเชื่อว่าตนเป็นอย่างที่คนอื่นนึกว่าเป็นจริงๆ
เราจึงมิได้เป็น "พระเอก" หรือ "นางเอก" ในสายตาของคนรอบข้างเท่านั้น
หากยังเป็นพระเอกนางเอกในความรู้สึกของตนเองอีกด้วย

แต่พระเอกนางเอกนั้นมีอยู่แต่ในหนัง ในชีวิตจริงทุกคน
ก็มีความเข้มแข็ง ความอ่อนแอ ความดี ความไม่ดี คละเคล้ากันไป

ถ้าหลงตนว่าเป็นพระเอกนางเอกเสียแล้ว เราไม่เพียงแต่จะหลอกตนเองเท่านั้น
หากยังหลอกผู้อื่น ตอนแรกก็ปกป้องตนเองด้วยการปกปิดจุดอ่อนจุดเสีย
แต่ตอนหลังก็ถึงกับบิดพลิ้วความจริง จนกลายเป็นคนฉ้อฉลไปโดยไม่รู้ตัว


คุณธรรมความดีนั้น หากเราไม่เท่าทัน เกิดไปหลงติดเข้า
ก็อาจพาชีวิตหลงทิศหลงทาง จนถึงขั้นทำสิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าการพูดปด
เพื่อรักษาภาพพจน์เสียอีก คนที่คิดว่าตนเป็นคนเมตตา รังเกียจการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ถ้าไม่ระวังตัว ก็อาจเป็นฆาตกรเสียเองเพราะจงเกลียดจงชังคนที่ไม่มีเมตตาเหมือนตน


ดังนักต่อต้านการทำแท้งในอเมริกา ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้เชิดชูชีวิต (pro - life)
แต่แล้วกลับลงมือสังหารหมอที่เปิดคลินิกทำแท้ง
เพราะทน "ความไร้ศีลธรรม" ของคนเช่นนั้นไม่ได้

มีนักปฏิบัติธรรมผู้หนึ่ง ซึ่งเคร่งครัดในการรักษาศีล แม้แต่ยุงเธอก็ไม่ตบ
จนเพื่อนๆ เรียกว่าแม่พระ แต่เมื่อพบว่าลูกสาวเกิดท้องทั้งๆ ที่ยังไม่ทันแต่งงาน
เธอก็นึกถึงการทำแท้งขึ้นมาทันที เพราะกลัวเสียชื่อเสียงของตนเองและวงศ์ตระกูล

ภาพพจน์จากความดีที่บำเพ็ญบ่อยครั้ง ก็ทำให้คนเราต้องทำสิ่งตรงข้ามกับความดีนั้น
เพื่อรักษาภาพพจน์ดังกล่าวต่อไป


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ มิใช่ให้เราปฏิเสธความดี
ไม่มีอะไรอีกแล้วที่ควรค่าแก่การบำเพ็ญเท่ากับคุณงามความดี

สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เราพึง ทำความดี ยิ่งกว่าที่จะทำตนเป็นคนดี

ความดีนั้นมีไว้สำหรับกระทำ มิใช่มีไว้เพื่อใช้เปรียบเทียบตนกับผู้อื่น
หรือเพื่อแบกหามล่ามโซ่ตนเอง


ความดีนั้นเอื้อให้เกิดสุข และความสุขก็ช่วยให้เรามั่นใจในการทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป
แต่เมื่อใดที่ยึดติดกับความดี เพราะหลงไหลในเกียรติยศชื่อเสียง
และความนับหน้าถือตาของผู้อื่นแล้ว
ความดีนั้นเองจะทิ่มแทงขบกัดและอาจถึงขั้นทำลายเราในที่สุด


คนเป็นอันมากทุกข์ใจเพราะดีได้ไม่ถึงขนาด
พ่อแม่กินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะลูกดีไม่ได้ดังใจ
ทั่วทุกหนแห่งมีแต่คนท้อแท้ผิดหวังเพราะไม่มีใครเห็นความดีของตน
ไม่ใช่ความน้อยเนื้อต่ำใจในความดีที่ถูกเมินเฉยดอกหรือ
ที่ผลักไสให้คนแล้วคนเล่าฆ่าตัวตาย

อันตรายของความดีนั้นอยู่ตรงที่ทำให้เราหลงตนลำพองใจได้ง่าย

ดังนั้นการมีสติเท่าทันในการทำความดีจึงเป็นสิ่งจำเป็น


แม้จะแน่ใจว่าทำดีด้วยใจบริสุทธิ์ แต่ก็ยังต้องระวังผลจากการทำความดีนั้นด้วย
ไม่ว่าจะเป็นผลโดยตรงหรือผลพลอยได้ โดยเฉพาะความสำเร็จ
ภาพพจน์ชื่อเสียง และการยอมรับนับถือจากคนรอบข้าง
หากเพลิดเพลินยินดีในสิ่งนั้นเมื่อไร เราก็ไม่ต่างจากปลาที่หลงฮุบเหยื่อ


บ่อย ครั้งไม่มีอะไรดีกว่าการกำราบหรือทรมานอัตตาตนเอง ยิ่งติดในภาพพจน์ตนเองมากเท่าไรก็ยิ่งสมควรทำอะไรเชยๆ เปิ่นๆ เสียบ้าง จะได้ดัดนิสัยชอบวางมาดวางฟอร์มให้เข็ดหลาบ

การทำตนเป็นคนขลาดกลัวช้างป่าให้ใครต่อใครเห็น
บางทีก็ฝึกฝนจิตใจได้ดีกว่าการทำตัวเป็นคนสงบไม่หวั่นไหวต่อแผ่นดินไหว


ถ้าหลงไหลในตนเองมากไปแล้ว ก็หัดหัวเราะเยาะตัวเองบ้าง
เวลาพลั้งเผลอปล่อยไก่ต่อหน้าธารกำนัล จะได้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหน้าเสียศักดิ์ศรี
แต่กลับถือเป็นเรื่องน่าหัวไปเสีย

ถ้าทำเช่นนี้ได้ ชีวิตจะไม่เครียด เพราะมีมุขมีเกร็ดให้แอบหัวเราะคนเดียวได้เรื่อยไป
และเมื่อถึงเวลาเป็นงานเป็นการ ใจเราจะเปิดกว้างมากขึ้นต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์


คนเราถ้าไม่คิดเป็นพระเอกนางเอกอยู่ร่ำไป ก็พร้อมจะยอมรับข้อผิดพลาด
และมองหาจุดอ่อนของตน แทนที่จะเอาแต่โทษคนอื่น
หรือคอยจับผิดเพื่อนร่วมงานอยู่ท่าเดียว

ในนิยายกำลังภายในหลายเรื่อง พรรคเทพมักเป็นตัวร้าย
ขณะที่พรรคมารกลับกลายเป็นผู้ทรงคุณธรรม

ในชีวิตจริง ก็มักเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะความเป็นเทพชวนให้เกิดความลำพอง
และฉ้อแลได้ง่ายด้วย ถือว่าถ้าเจตนาดีแล้ว จะใช้วิธีเลวร้ายอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น
ถึงอย่างไรก็ไม่มีใครยอมเชื่อดอกว่าเราจะทำตัวเลวร้ายอย่างนั้นได้


ถ้าเลิกความเป็นเทพเสียได้ แต่ไม่ต้องถึงกับไปเป็นมารดอก
เพียงแต่คืนสู่ความเป็นคนธรรมดาสามัญ รู้เท่าทันตนเองเท่านั้น
ชีวิตก็จะน่าอภิรมย์และเป็นสุขอย่างยิ่ง


______________________________________
จาก สุขใจในนาคร ศิลปะแห่งการอยู่เมืองอย่างมีความสุข
โดย พระไพศาล วิสาโล

คัดลอกจาก...��ҹ���� carefor.org